เส้นผมจะงอกออกมาจากต่อมผมหรือรูขุมขน (Hair Follicle) ซึ่งมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก อยู่ลึกลงไป 3-4 มิลลิเมตรในผิวชั้นหนังแท้ (Dermis) และยาวยื่นออกมาผ่านผิวชั้นนอก (Epidermis) ในส่วนที่ติดกับชั้นหนังแท้เรียกว่า Dermal Papillae เป็นตัวสร้างเส้นขน ซึ่งตรงนี้จะมีเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocytes) ที่สร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) อันเป็นตัวที่ทำให้เกิดสีผมของเรา
เมลานินในผมเราแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Eumelanin ที่ทำให้ผมมีสีดำหรือน้ำตาล และ Pheomelanin ที่ทำให้ผมสีแดงหรือทอง โดยสีผมของแต่ละคนจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วน Eumelanin และ Pheomelanin ที่ร่างกายผลิตออกมา ขณะเดียวกันสีของผมแต่ละเส้นก็อาจมีสีที่ต่างกันออกไป
หากเมลาโนไซต์ในต่อมผมไม่สร้างเมลานิน หรือสร้างน้อยลง จะทำให้เห็นเส้นผมเป็นสีขาวหรือสีเทา อย่างที่เราเรียกกันว่าผมหงอกนั่นแหละครับ หรือหากเกิดมีฟองอากาศเล็ก ๆ เกิดบนเซลล์เส้นผม (Hair Cortex) เมื่อเส้นผมกระทบแดดก็อาจเป็นแสงเงาทำให้มองเห็นเส้นผมเป็นสีเงิน ดูเป็นผมหงอกได้
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น เมลาโนไซต์จะผลิตเมลานินน้อยลง ทำให้ผมดูขาวขึ้น สำหรับคนเอเชีย ถ้าผมหงอกก่อนอายุ 30 จึงจะเรียกได้ว่ามีภาวะผมหงอกก่อนวัย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จากความเครียด กรรมพันธุ์ การขาดสารอาหารบางอย่าง (เช่น ทองแดง เหล็ก วิตามินบี) ผลกระทบจากยาบางตัว (เช่น ยารักษาโรคมาลาเรีย) การใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของสารชะล้างที่รุนแรง การที่เส้นผมและหนังศีรษะสัมผัสกับน้ำยาดัด ยืด หรือย้อมผมที่มีไฮโดรเจนไดออกไซด์ (Hydrogen Dioxide) ซิลเวอร์อะซิเตท (Silver Acetate) หรือซิลเวอร์ไนเตรท (Silver Nitrate) อาการเจ็บป่วยจากโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ด่างขาว ผมร่วง เบาหวาน อาการทางจิตที่หวาดกลัวเฉียบพลัน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือโรคของระบบประสาท เป็นต้น
อาการผมหงอกที่เกิดจากโรคบางชนิดอาจทำให้เส้นผมกลับมาดำได้เมื่อรักษาหาย พูดง่าย ๆ ก็คืออาการที่ป่วยทำให้ร่างกายเครียดจนผมหงอกนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ภาวะผมหงอกก่อนวัยไม่เกี่ยวข้องกับการหลุดร่วงของเส้นผมแต่อย่างใด
ภาวะผมหงอกก่อนวัยยังไม่มีผลรับรองโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยทั่วไปหากเกิดจากภาวะแวดล้อมที่ไม่ใช่โรค แพทย์อาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้สิ่งที่กระตุ้นให้ผมหงอก หรือหากเป็นเพราะขาดสารอาหารก็ควรรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติม เช่น อาหารที่มีวิตามินเอ บี ซี ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง ส่วนการรักษาโดยภูมิปัญญาชาวบ้านมักนิยมใช้สมุนไพรพื้นบ้านมาหมักผม เช่น ใบบัวบก งา ว่านหางจระเข้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยสถาบันดูแลรักษาเส้นผมและหนังศีรษะ ที่นิยมใช้ก็คือ ไลโปโซม (Liposomes) ซึ่งเป็นไขมันขนาดอนุภาคเล็ก วิธีใช้คือ ทาบริเวณหนังศีรษะพร้อมอาหารผม เนื่องจากไลโปโซมจะช่วยเพิ่มการซึมผ่านของสารเข้าสู่ชั้นผิวหนัง เมื่อใส่อาหารผมลงไป ทำให้รากผมได้อาหารได้ดีขึ้น
ส่วนการแก้ปัญหาโดยการถอนผมที่หงอกออกนั้น ไม่ได้ทำให้ภาวะผมหงอกหายไป เพราะเมื่อผมงอกขึ้นมาใหม่ก็จะเป็นผมหงอกเหมือนเดิม ส่วนการย้อมผม แม้จะสะดวกและเห็นผลชัดเจน แต่อาจทำให้เกิดผลสร้างเคียง เช่น การแพ้ หรือการสะสมของสารเคมีในร่างกายได้ จึงควรศึกษายาย้อมผมแต่ละชนิดให้ดีก่อนซื้อ
เพื่อสุขภาพผมที่ดี (แม้จะไม่สามารถรับรองได้ว่าผมจะไม่หงอก) เราควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันโรค รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม งดสูบบุหรี่ เลือกแชมพูและครีมนวดผม รวมทั้งผลิตภัณฑ์แต่งผมที่ไม่แพ้ เหมาะกับสภาพเส้นผม และหนังศีรษะของตัวคุณเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น