วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประโยชน์และสรรพคุณของขมิ้นชัน ฉบับชาวบ้าน

ขมิ้นชันเป็นพืชสมุนไพรที่มีมาแต่โบราณ แพทย์แผนไทยโบราณได้นำขมิ้นชันมาทำเป็นยาหลายตำรับซึ่งเป็นต้นแบบของยาหลายชนิด ในปัจจุบันนักวิทยาศาตร์ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและทดลองถึงคุณสมบัติทางเคมีของขมิ้นชัน (หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆคือ ศึกษาให้รู้ว่ามีสรรพคุณอย่างไรบ้าง) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทางเลือกในการปรุงเป็นยาชนิดต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยได้ศึกษาค้นคว้ามายาวนาน จนมั่นใจได้ว่าสมุนไพรขมิ้นชันเป็นพืชที่มีประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ จนกระทั่งนำขมิ้นชันขึ้นทะเบียนในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่สรรพคุณขมิ้นชันจะเป็นรูปแบบของสรรพคุณอย่างง่ายๆที่ทุกคนหาอ่านได้ทั่วไปตามหนังสือ แต่ในรูปแบบที่เป็นการทดลองจากห้องทดลองยังไม่สามารถหาอ่านได้จากที่ไหน ผมเองจึงได้พยายามสรุปสรรพคุณของขมิ้นชันจากการทดลองทางวิทยาศาตร์มาให้ได้ลองอ่านกันดู โดยใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อเป็นกันขยายและเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้้น

ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นชันที่ควรรู้ (สรุปจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์)

ขมิ้นชันมันมีสรรพคุณในการสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่เป็นแผล น้ำมันหอมระเหยของขมิ้นชัน นอกจากช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยการกระตุ้น mucin มาเคลือบกระเพาะอาหารและยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยชนิดต่างๆได้
มีผลการทดลองว่า ผงแห้ง น้ำคั้นและสารสกัดชนิดต่างๆมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบในร่างกายทุกชนิด และสารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ คือ สารที่มีชื่อว่า curcumin และเมื่อนำไปเทียบเคียงกับยาแผนปัจจุบันที่ช่วยบรรเทาการอักเสบที่มีชื่อว่า ฟีนิลบิวทาโซน (ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ข้อ เช่น รูมาตอยด์ เป็นต้น) พบว่า มีฤทธิ์ใกล้เคียงกันในการรักษาอาการอักเสบแบบเฉียบพลัน แต่จะมีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวในการรักษาอาการอักเสบแบบเรื้อรัง
มีการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกและข้ออักเสบเรื้อรัง จำนวน 42 คน โดยใช้สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของเหง้าขมิ้นพบว่า การได้รับสมุนไพรดังกล่าว สามารถลดความเจ็บปวดที่รุนแรงได้
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการต้านการแพ้ โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของสาร histamine ของร่างกายเมื่อมีอาการแพ้
จากการทดลองทางคลินิกกับคนไข้จำนวน 440 คน อายุเฉลี่ย 48.5 ปี โดยการให้ทานขมิ้นชันทุกวัน วันละ 162 มิลลิกรัม พบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ และยังช่วยในการขับลมและแก้อาเจียนด้วย
มีการทดลองในผู้ป่วยโรคท้องอืดท้องเฟ้อในโรงพยาบาล 6 แห่ง จำนวน 160 คน โดยรับประทานครั้งละ 2 แคปซูลวันละ 4 ครั้ง พบว่าได้ผลดีกว่ายาขับลมและผู้ป่วยพอใจ ซึ่งน้ำมันหอมระเหยของขมิ้นเป็นสารออกฤทธิ์ในการขับลม
ขมิ้นชันสามารถออกฤทธิ์เพิ่มการขับและกระตุ้นการสร้างน้ำดีได้ ซึ่งน้ำดีเป็นสารสำคัญในกระบวนการช่วยย่อยและดูดซึมอาหารของร่างกาย
ตามตำรายาพื้นบ้านของไทย มีการใช้ขมิ้นรักษาอาการท้องเสีย  โดยนำผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3-5 เม็ด วันละ 3 เวลา และในประเทศอินโดนีเซียก็มีการใช้ขมิ้นในการรักษาอาการอุจจาระร่วงเช่นกัน และขมิ้นชันขนาด 1000 มก./ครั้ง/วัน มีผลทำให้อาการท้องร่วงในลูกสุกรระยะดูดนมแม่หายไป
ทั้งสารสกัดขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหย สาร curcumin และอนุพันธ์มีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียชนิดต่างๆ เช่น
  • แบคเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • แบคทีเรียที่ทำให้เกิดเยื้อหุ้มฟันอักเสบ
  • แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องเสีย
  • แบคทีเรียก่อโรคในกุ้ง
  • แบคทีเรียที่ให้เกิดหนอง
ทั้งสารสกัดขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหย สาร curcumin และอนุพันธ์ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่ายีสต์, เชื้อราชนิดต่างๆ เช่น
  • เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง อย่างเช่น โรคกลาก
  • ยีสต์ที่มีชื่อว่า Candida albicans ซึ่งเป็นเชื้อโรคฉวยโอกาสของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เบาหวาน เอดส์ เป็นต้น
สารสกัดจากขมิ้นสามารถที่จะฆ่าเชื้ออะมีบา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบิดมีตัวได้
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการป้องกันตับอักเสบ
  • จากการทดลองในหนูขาวพบว่าขมิ้นชันสามารถป้องกันตับถูกทำลายจากใช้ยาพาราเซตามอล
  • จากการทดลองในหนูขาวพบว่า สาร curcumin จากขมิ้นสามารถป้องกันตับจากการถูกทำลายด้วยเอทานอล โดยเอทานอลจะทำให้ตับทำงานหนัก และทำให้การทำหน้าที่และระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดอนุมูล อิสระเพิ่มขึ้น แต่หลังจากที่หนูขาวได้รับสารสกัดขมิ้นชันร่วมกับการรับเอทานอลแล้ว ตับทำงานน้อยลง รวมถึงการทำหน้าที่และระดับของเอนไซม์ในตับลดลง (เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่ทานได้ ซึ่งเหล้าก็เป็นเอทานอลแบบหนึ่ง)
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์  ต้านสารก่อมะเร็งที่มีบทบาทสำคัญในโรคที่เกี่ยวกับเบาหวาน และโรคที่เกิดจากการเสื่อมของร่างกาย
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการป้องกันความเสียหายของ DNA และต้านความเป็นพิษต่อยีน
ผงขมิ้นที่นำมาผสมกับน้ำแล้วทาลงบนแผลพบว่า ช่วยเร่งให้แผลที่ไม่ติดเชื้อของกระต่ายและหนูขาวหายได้ 23.3 และ 24.2% ตามลำดับ และสามารถเร่งให้แผลติดเชื้อของหนูขาวหายได้ 26.2%
การทดลองทางคลินิค โดยทายาสมุนไพรซึ่งมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบที่ผิวหนัง พบว่ามีฤทธิ์ในการสร้างเซลล์ผิวขึ้นใหม่ มีผู้ทดลองใช้สาร curcumin จากขมิ้นในการรักษาแผลหลังผ่าตัด 40 ราย พบว่าให้ผลลดการอักเสบได้เหมือนฟีนิลบิวทาโซน การทดลองใช้ขมิ้นหรือยาปฏิชีวนะ ในการรักษาแผลผุพองในผู้ป่วย 60 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ขมิ้น และกลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะ แล้วติดตามดูแผลพุพองหลังการรักษา 21 วัน พบว่าผู้ป่วยทุกรายหายจากโรค และไม่พบภาวะแทรกซ้อนหรือข้อแตกต่างระหว่างการใช้ขมิ้นและยาปฏิชีวนะ
มีการนำสารสกัดของขมิ้น มาพัฒนาตำรับเป็นครีมป้ายปาก แล้วทำการทดลองเพื่อสังเกตฤทธิ์ในการสมานแผล โดยทำการทดลองในอาสาสมัคร 30 คน พบว่าครีมป้ายปากที่มีสารสกัดขมิ้นชัน 1% มีผลทำให้แผลในปากหายภายใน 1 สัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น